18 พฤศจิกายน 2564
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย และรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทองและดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง นักวิจัยโครงการเป็นผู้รายงานเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีและผลผลิตสูง ซึ่งสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ได้ถึง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมเพื่อการบริโภค ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง และข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และได้มีการถ่ายทอดไปยังเกษตรกรจำนวน 21 จังหวัด นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อรับฟังความก้าวหน้าในการพัฒนางานวิจัยในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย และบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงมาโดยตลอด
“เทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว” ซึ่งไม่ใช่ GMO การชักนำให้พืชกลายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยลำไอออน มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นแห่งที่สองในโลกต่อจากประเทศจีน การพัฒนาปรับปรุงข้าวคุณภาพสายพันธุ์ใหม่หลากหลายชนิดใช้เวลาสั้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมมาก ส่งผลต่อการปรับปรุงพันธ์ข้าวคุณภาพและผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรได้เมล็ดพันธ์ที่ดี ตลอดจนเป็นรากฐานที่สำคัญสู่การเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกอีกครั้งหนึ่ง ในปัจจุบันเทคโนโลยีดังที่กล่าวสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้การสนับสนุนเกษตรได้ถึง 10 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวเจ้าหอม ข้าวเจ้าเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง ข้าวเหนียวหอม ข้าวเจ้าสีสำหรับการบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพและเวชสำอาง ข้าวไขมันสูง ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ ข้าวเบต้าแคโรทีนสูง ข้าวเหนียวที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง ข้าวเจ้าพื้นแข็งที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง และข้าวญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง
การขยายผลการแก้ไขปัญหาความยากจน ศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ได้นำข้าวลำไอออน 3 พันธุ์ ได้แก่ 1. เจ้าหอม มช 10-1 เพื่อการบริโภค 2. เจ้า ศฟ 10-5 เพื่ออุตสาหกรรมแป้ง และ 3. เจ้า ศฟ 10-7 เพื่ออาหารสัตว์และข้าวพาร์บอยล์ มาส่งเสริมการเพาะปลูกแก่ชาวนา ในรูปแบบ “มช.-ราชบุรีโมเดล จากการทดสอบการปรับตัวของข้าวทั้ง 3 พันธุ์ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2561-2562 พบว่าข้าวทั้ง 3 พันธุ์ ปรับตัวได้ดี ให้ผลผลิตมากกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่ จึงขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ อีก 21 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
การขยายผลการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจติดตามการทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัย